top of page

     แมลงเป็นสัตว์ที่มีปริมาณมากที่สุดในโลก มีทั้งแมลงที่สวยงามมีประโยชน์ เช่น ผีเสื้อ แมลงปอ และแมลงที่เป็นอาหาร เช่น ตั๊กแตน จิ้งหรีด แมลงดานา แต่แมลงที่ทุกคนรู้จักกันดีและเป็นสัตว์ปีกที่พบได้ทุกหนทุกแห่ง คือยุง
            ในโลกมียุงกว่า 4,000 ชนิด จัดอยู่ในอันดับ Diptera วงศ์ Culicidac ยุงบางชนิดเป็นพาหะนำโรคมาสู่คนและสัตว์ เช่น ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ยุงลายสวน(Aedes. Albopictus) นำโรคไข้เลือดออก(Dengue haemorrhagic fever) ยุง Culex tritaeniorhynchus นำโรคไข้สมองอักเสบ (Japanese encephalitis) ยุงก้นปล่องนำโรคมาลาเรีย (Malaria) และยุงเสือนำโรคฟิลาเรีย (Filariasis) หรือโรคเท้าช้าง โรคที่กล่าวมานี้เกิดในคน ส่วนในสัตว์นั้นยุงก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เนื่องจากเป็นตัวนำโรคต่างๆ หลายชนิดในสัตว์ เช่น ยุงรำคาญ (Culex quinquefasciatus) นำโรคพยาธิหัวใจสุนัขและโรคมาลาเรียในนก ยุงบางชนิดชอบกัดวัวทำให้น้ำหนักลดผลิตนมได้น้อยลง ยุงนอกจากเป็นอันตรายต่อคนและสัตว์เลือดอุ่นแล้วยังเป็นอันตรายต่อสัตว์เลือดเย็นอีกด้วย

ตารางที่ 1 โรคที่นำโดยยุงและแมลงปากกัดอื่นๆ ในประเทศไทย

พาหะ

 

ยุงก้นปล่อง (Anopheles)

 

ยุงรำคาญ (Culex)

 

ยุงลาย (Aedes)

 

ยุงเสือ (Mansonia)

 

ริ้นฝอยทราย (Phlebotomus,Lutzomyia)

 

ริ้น (Ceratopogonidac)

 

โรค

 

มาเลเรีย โรคเท้าช้าง

 

ไข้สมองอักเสบ โรคเท้าช้าง

 

เดงกี  ไข้เลือดออก  โรคเท้าช้าง

 

โรคเท้าช้าง

 

Leishmaniasis

 

Mansonellosis

 

1.ชีววิทยาและนิเวศวิทยา


     1.1 วงจรชีวิต
ยุงมีการเจริญแบบสมบูรณ์(Complete metamorphosis หรือ holometabola) หมายถึง การเจริญเติบโตทีมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างในแต่ละระยะแตกต่างกันมาก แบ่งเป็น 4 ระยะ คือระยะไข่(egg) ระยะลูกน้ำ(larva) ระยะตัวโม่ง(pupa) และระยะตัวเต็มวัย(adult) ระหว่างการเจริญเติบโตในแต่ละระยะต้องมีการลอกคราบ(molting) ซึ่งถูกควบคุมโดยฮอร์โมนที่สำคัญ 3 ชนิด คือ brain hormone, ecdysone และ juvenile hormone
ระยะไข่
ไข่ยุงแต่ละชนิดมีขนาดและลักษณะไม่เหมือนกัน จากลักษณะการวางไข่อาจบอกชนิดของกลุ่มยุงได้ ยุงชอบวางไข่บนผิวน้ำหรือบริเวณชื้น เช่น บริเวณขอบภาชนะเหนือระดับน้ำ การวางไข่ของยุงแบ่งออกเป็น 4 ประเภท
     - วางไข่ใบเดี่ยวๆ บนผิวน้ำ เช่น ยุงก้นปล่อง
     - วางไข่เป็นแพ (raft) บนผิวน้ำ เช่น ยุงรำคาญ
     - วางไข่เดี่ยวๆ ตามขอบเหนือระดับน้ำ เช่น ยุงลาย
     - วางไข่ติดกับใบพืชน้ำเป็นกลุ่ม เช่น ยุงเสือหรือยุงฟิลาเรีย

ระยะไข่ใช้เวลา 2-3 วัน จึงฟักตัวออกเป็นลูกน้ำ ในยุงบางชนิดไข่สามารถอยู่ในสภาพแห้งได้หลายเดือนจนกระทั่งเป็นปี เมื่อมีน้ำก็จะฟักออกเป็นลูกน้ำ แหล่งวางไข่ของยุงแต่ละชนิดแตกต่างกัน เช่น ยุงลายชอบวางไข่ในภาชนะขังน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น ส่วนยุงรำคาญชอบวางไข่ในแหล่งน้ำสกปรกต่างๆ น้ำเสียจากท่อระบายน้ำ แต่หากไม่พบสภาพน้ำที่ชอบยุงก็อาจวางไข่ในสภาพน้ำที่ผิดไป นักวิทยาศาสตร์หลายคนรายงานว่าปัจจัยที่ช่วยให้ยุงตัวเมียรู้ว่าควรจะวางไข่ที่ใดก็คือ สารเคมีบางอย่างในน้ำ สารเคมีอาจเป็นdiglycerides ซึ่งผลิตโดยลูกน้ำยุงที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนั้น หรือเป็นกรดไขมัน(fatty acid) จากแบคทีเรีย หรือเป็นสารพวก phenolic compounds จากพืชน้ำ

     ระยะลูกน้ำ
ลูกน้ำยุงแต่ละชนิดอาศัยอยู่ในน้ำต่างชนิดกัน เช่น ภาชนะขังน้ำต่างๆ ตามบ่อน้ำ หนอง ลำธาร โพรงไม้หรือกาบใบไม้ที่อุ้มน้ำ เป็นต้น ลูกน้ำยุงส่วนใหญ่ลอยตัวขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ โดยมีท่อสำหรับหายใจ เรียกว่า siphon ยกเว้นยุงก้นปล่องไม่มีท่อหายใจ แต่จะวางตัวขนานกับผิวน้ำ โดยมีขนลักษณะคล้ายใบพัด(palmate hair) ช่วยให้ลอยตัวและหายใจทางรูหายใจ(spiracle) ซึ่งอยู่ด้านข้างอกและลำตัว ส่วนยุงเสือจะใช้ท่อหายใจซึ่งสั้นและปลายแหลมเจาะพืชน้ำและหายใจเอาออกซิเจนผ่านรากของพืชน้ำ อาหารของลูกน้ำยุง ได้แก่ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในน้ำ เช่น แบคทีเรีย ยีสต์ สาหร่าย ลูกน้ำจะลอกคราบ 4 ครั้ง เมื่อลอกคราบครั้งสุดท้ายกลายเป็นตัวโม่ง การเจริญเติบโตในระยะลูกน้ำใช้เวลาประมาณ 7-10 ขึ้นอยู่กับชนิดของลูกน้ำ อาหาร อุณหภูมิ และความหนาแน่นของลูกน้ำด้วย
     ระยะตัวโม่ง
ตัวโม่งรูปร่างผิดไปจากลูกน้ำ ส่วนหัวเชื่อมต่อกับส่วนอก รูปร่างลักษณะคล้ายเครื่องหมายจุลภาค(,) ระยะนี้ไม่กินอาหาร เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว มีท่อหายใจคู่หนึ่งที่ส่วนหัวเรียก trumpets ระยะนี้ใช้เวลาในการเจริญเติบโตเพียง 1-3 วัน

ระยะตัวเต็มวัย
ตัวยุงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
ส่วนหัว (head) มีลักษณะกลมเชื่อมติดกับส่วนอก ประกอบด้วยตา 1 คู่ ตาของยุงเป็นแบบตาประกอบ (compound eyes) มีหนวด (antenna) 1 คู่ มีรยางค์ปาก(labial palpi) 1 คู่และมีอวัยวะเจาะดูด (proboscis) 1 อัน มีลักษณะเป็นแท่งเรียวยาวคล้ายเข็มสำหรับแทงดูดอาหาร หนวดของยุงแบ่งเป็น 15 ปล้อง สามารถใช้จำแนกเพศของยุงได้ แต่ละปล้องจะมีขนรอบๆ ในยุงตัวเมีย ขนนี้จะสั้นและไม่หนาแน่น (sparse) เรียกว่า pilose antenna ส่วน

ตัวผู้ ขนจะยาวและเป็นพุ่ม (bushy) เรียกว่า plumose antennaหนวดยุงเป็นอวัยวะที่ใช้ในการรับคลื่นเสียง ตัวผู้จะใช้รับเสียงการกระพือปีกของตัวเมีย ความชื้นของอากาศและรับกลิ่น
Labial palpi แบ่งเป็น 5 ปล้อง อยู่ติดกับ proboscis ในยุงก้นปล่องตัวเมีย palpi จะตรงและยาวเท่ากับ proboscis ส่วนยุงตัวผู้ตรงปลาย palpi จะโป่งออกคล้ายกระบอง ในยุงตัวอื่นที่ไม่ใช่ยุงก้นปล่อง palpi ของตัวเมียจะสั้นประมาณ ¼ ของ proboscis ส่วนตัวผู้ palpi จะยาวแต่ตรงปลายไม่โป่งและมีขนมากที่สองปล้องสุดท้ายซึ่งจะงอขึ้น

ส่วนอก (thorax) มีปีก 1 คู่ ด้านบนของอก ปล้องกลาง (mesonotum) ปกคลุมด้วยขนหยาบๆ และเกล็ด ซึ่งมีสีและลวดลายต่างๆ กัน เราใช้ลวดลายนี้สำหรับแยกชนิดของยุงได้ ด้านข้างของอกมีเกล็ดและกลุ่มขนซึ่งใช้แยกชนิดของยุงได้ เช่นกัน ด้านล่างของอกมีขา โดยขาแต่ละข้างจะประกอบด้วย coxa ซึ่งมีขนาดสั้นอยู่ที่โคนสุด ต่อไปเป็น trochanter คล้ายๆ บานพับ femur, tibia และ tarsus ซึ่งมีอยู่ 5 ปล้อง ปล้องสุดท้ายมีหนามงอๆ 1 คู่ เรียกว่า claws ขาก็มีเกล็ดสีต่างๆ ใช้แยกชนิดของยุงได้ ปีกมีลักษณะแคบและยาว มีลายเส้นปีก (Veins) ซึ่งมีชื่อเฉพาะของแต่ละเส้นปีกและจะมีเกล็ดสีต่างๆ กัน ตรงขอบปีกด้านหลังจะมีขนเรียงเป็นแถวเรียก เกล็ด (fringe) และขนบนปีกนี้ก็ใช้ในการแยกชนิดของยุงได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมี halteres 1 คู่ อยู่ที่อกปล้องสุดท้ายมีลักษณะเป็นปุ่มเล็กๆ อยู่ต่อจากปีก เมื่อยุงบิน halteres จะสั่นอย่างเร็วใช้ประโยชน์ในการทรงตัวของยุงส่วนท้อง (abdomen) มีลักษณะกลม ยาว ประกอบด้วย 10 ปล้อง แต่จะเห็นชัดเพียง 8 ปล้อง ปล้องที่ 9 -10 จะดัดแปลงเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ในยุงตัวผู้จะใช้ส่วนนี้แยกชนิดของยุงได้

1.2 ชีวิตประจำวัน (Daily life)
อาหาร
ยุงตัวเต็มวัยทั้ง 2 เพศ กินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ส่วนใหญ่ยุงตัวเมียยังต้องการโปรตีนจากเลือดมนุษย์หรือสัตว์ เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของไข่และใช้สร้างพลังงาน ยุงตัวเมียเท่านั้นที่กัดคนและสัตว์ ยุงแต่ละชนิดชอบกินเลือดต่างกัน พวกที่ชอบกินเลือดเรียกว่า zoophilic ส่วนพวกที่ชอบกินเลือดคนเรียกว่าanthropophilic เลือดจะเข้าไปช่วยในการเจริญเติบโตของไข่ การเจริญเติบโตของไข่แบบที่ต้องการโปรตีนจากเลือดเรียกว่า anautogeny มียุงไม่กี่ชนิดที่ไข่สุกได้โดยใช้อาหารที่สะสมไว้โดยไม่ต้องกินเลือด เรียก autogeny เช่นยุง Aedes togoi,Culex molestus เวลาที่ยุงหากินก็ไม่เหมือนกัน เช่น ยุงลายชอบหากินในเวลากลางวัน ส่วนยุงรำคาญชอบหากินในเวลากลางคืน ยุงแม่ไก่ชอบหากินตอนพลบค่ำและย่ำรุ่ง เป็นต้น
การบินมีลักษณะเฉพาะสำหรับยุงแต่ละชนิด เช่น ยุงบ้านจะบินไปไม่ไกล บินได้ประมาณ 30 - 300 เมตร ยุงลายสวนบินได้ประมาณ 400 - 600  เมตร ยุงก้นปล่องบินได้ประมาณ 0.5 – 2.5 กิโลเมตร ส่วนยุงรำคาญบินได้ตั้งแต่ 200 

เมตรถึงหลายกิโลเมตร ยุงพาหะนำโรคไข้สมองอักเสบบินได้ไกลถึง 50 กิโลเมตร ยุงตัวเมียสามารถบินได้ไกลกว่ายุงตัวผู้การผสมพันธุ์ยุงตัวผู้ลอกคราบโผล่ออกจากตัวโม่งก่อนยุงตัวเมีย และอยู่ใกล้ๆ แหล่งเพาะพันธุ์เมื่อตัวเมียออกมา 1-2 วัน จะผสมพันธุ์กัน หลังจากผสมพันธุ์แล้วยุงตัวเมียจะออกหาแหล่งเลือด แต่ยุงบางชนิดต้องการเลือดก่อนการผสมพันธุ์ เช่น Anopheles culicfacies นอกจากนี้ยุงก้นปล่องมีพฤติกรรมการบินว่อนเป็นกลุ่มเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์ เรียกswarming มักเกิดขึ้นตอนพระอาทิตย์กำลังตก โดยแสงที่อ่อนลงอย่างรวดเร็วมีผลในการกระตุ้นกิจกรรมนี้ ส่วนยุงลายจับคู่ผสมพันธุ์โดยไม่ต้อง swarm ตัวผู้จะตอบสนองต่อเสียงกระพือปีกของยุงตัวเมีย ยุงลายตัวผู้สามารถค้นหาตัวเมียได้ภายในระยะทาง 25 เซนติเมตรอายุของยุงยุงตัวผู้มักมีอายุสั้นกว่ายุงตัวเมีย โดยยุงตัวผู้มีอายุประมาณ 1 สัปดาห์ ยกเว้นในกรณีที่เลี้ยงดูด้วยอาหารสมบูรณ์และมีความชื้นเหมาะสมจะมีอายุอยู่ได้เป็เดือน ส่วนยุงตัวเมียมีอายุ 1 - 5 เดือน อายุของยุงขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ในฤดูร้อน ยุงมีกิจกรรมมากทำให้อายุสั้นเฉลี่ยประมาณ 2 สัปดาห์ ในฤดูหนาวยุงมีกิจกรรมน้อยจึงมีอายุยืน  ในบางพื้นที่ยุงสามารถจำศีลตลอดฤดูหนาว

2.วิธีการควบคุมยุง
     2.1 การควบคุมโดยวิธีชีววิทยา (Biological control)
การนำสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติมาควบคุมยุงพาหะให้ได้ผลนั้น ต้องมีปริมาณมากพอที่จะควบคุมประชากรยุงพาหะได้ เช่น การให้ปลากินลูกน้ำ ตัวห้ำ เชื้อรา แบคทีเรีย และโปรโตซัว เป็นต้น
     2.2 การควบคุมโดยใช้สารเคมี (Chemical control)
การใช้มาตรการควบคุมโดยใช้วัตถุอันตราย เช่น การใช้สารไพรีทรอยด์สังเคราะห์สารสกัดธรรมชาติ สารออร์กาโนคลอรีน สารออร์กาโนฟอสเฟตและสารคาร์บาเมต เป็นต้น
     2.3 การควบคุมโดยวิธีกล (Mechanical control) เช่น การใช้มุ้ง การสวมเสื้อมิดชิด ใช้ยาจุดกันยุง ใช้มุ้งลวด เป็นต้น
     2.4 การควบคุมโดยวิธีพันธุกรรม (Genetic control) เช่น ทำให้โครโมโซมของยุงพาหะเปลี่ยนไปไม่สามารถนำเชื้อได้ ทำให้ยุงเป็นหมันโดยใช้สารกัมมันตรังสีหรือใช้วัตถุอันตราย เป็นต้น
     2.5 การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของแมลง (Insect growth regulators: IRG) เช่น การใช้สารคล้ายจูวิไนล์ฮอร์โมนและสารยับยั้งการสร้างผนังลำตัว เป็นต้น
 

3.การจัดการยุง
     3.1 การจัดการแหล่งเพาะพันธุ์
ในการดำเนินการจำเป็นต้องมีการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ ความชุกชุมของลูกน้ำและตัวยุงเพื่อวางแผนจัดการควบคุม ภายหลังการปฏิบัติงานต้องมีการประเมินผลโดยสำรวจแบบดียวกับก่อนการควบคุม เพื่อตรวจสอบว่ายุงลดลงหรือไม่
แหล่งเพาะพันธุ์ของยุงแต่ละชนิดแตดต่างกัน ดังนั้นต้องมีความรู้เกี่ยวกับชีววิทยาและนิเวศวิทยาของยุงที่ต้องการกำจัด ดังนี้
          3.1.1 ยุงลาย   เพาะพันธุ์ในภาชนะขังน้ำ   เช่น   โอ่งใส่น้ำดื่ม  น้ำใช้  บ่อคอนกรีตขัง น้ำในห้องน้ำ แจกันภาชนะใส่ต้นไม้น้ำ   การจัดการต้องเป็นการหาวิธีป้องกันไม่ให้ภาชนะดังกล่าวเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ เช่น ปิดฝาภาชนะให้มิดชิดด้วยผ้า ตาข่าย หรืออลูมิเนียมหรือแผ่นโลหะ ทำความสะอาดขัดล้างโอ่ง ระบายน้ำทิ้งเปลี่ยนน้ำในแจกันทุก 4 - 5 วัน ในกรณีของภาชนะที่ไม่ได้ประโยชน์ เช่น ยางรถยนต์เก่า โอ่ง อ่างแตก แนะนำให้กำจัดทิ้งไปหรือนำไปดัดแปลงใช้ให้เกิดประโยชน์อื่น เช่น นำไปใส่ดินปลูกพืชสวนครัว เป็นต้น สำหรับแหล่งเพาะพันธุ์ในธรรมชาติ เช่น โพรงไม้ กาบใบเรือ กระบอกไม้ไผ่ สามารถป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์โดยใส่ดินหรือทรายหรืออุดด้วยซีเมนต์หรือฉีดพ่นสารกำจัดลูกน้ำซึ่งอาจใช้สารเคมีหรือสารชีวภาพ
วิธีการจัดการกับวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เช่น ขวด กระป๋อง โอ่งแตก ถังพลาสติกชำรุด ยางรถยนต์ กะลามะพร้าว เปลือกทุเรียน ถ้วยยางพาราเก่าๆ เป็นต้น ดังนี้
               3.1.1.1 ฝัง เผาทำลายหรือเก็บรวบรวมในถุงหรือนำไปทำรองเท้ายาง ถังน้ำ ถังขยะหรือนำไปหลอมกลับมาใช้ใหม่
               3.1.1.2 
ยางรถยนต์เก่า อาจนำไปปลูกต้นไม้หรือนำไปทำแนวกั้นดินป้องกันการถูกคลื่นเซาะทำลาย

               3.1.1.3 กะลามะพร้าว เปลือกทุเรียนนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง
               3.1.1.4 เรือบดเล็กหรือเรือชำรุดให้คว่ำเมื่อไม่ใช้งาน
               3.1.2 ยุงรำคาญ เพาะพันธุ์อยู่ในท่อระบายน้ำ แหล่งน้ำขังที่มีมลภาวะสูง การจัดการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ทำได้หลายวิธี เช่น
               3.1.2.1 การเก็บขยะในแหล่งน้ำขัง เพื่อจะได้ไม่เป็นอาหารของลูกน้ำและเป็นที่หลบซ่อนของลูกน้ำ จากการสังเกตพบว่าแอ่งน้ำขังหรือคลองที่ไม่มีขยะลอยอยู่ในน้ำจะไม่ค่อยมีลูกน้ำยุงรำคาญเพราะไม่มีแหล่งเกาะพักของลูกน้ำ ไม่มีร่มเงา
               3.1.2.2 การกำจัดต้นหญ้าที่อยู่ริมขอบบ่อ
               3.1.2.3 การทำให้ทางระบายน้ำไหลได้สะดวก เพราะยุงรำคาญชอบอาศัยในแหล่งน้ำขัง หรือ น้ำนิ่ง ซึ่งมีเศษขยะลอยอยู่บนผิวน้ำ
               3.1.2.4 การถมหรือระบายน้ำออกของแหล่งน้ำที่ไม่จำเป็น เพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ให้น้อยลง
          3.1.3 ยุงก้นปล่อง  พาหะนำโรคมาลาเรีย มีแหล่งเพาะพันธุ์ตามลำธาร บ่อพลอยแอ่งหิน แอ่งดิน คลองชลประทาน สามรถปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้ไม่เหมาะสมโดยการกลบถมปรับปรุงความเร็วของกระแสน้ำเพื่อรบกวนการวางไข่ของยุงและทำให้ไข่ยุงกระทบกระเทือน จัดการถางวัชพืชริมลำธาร ลดร่มเงาและแหล่งเกาะพัก
          3.1.4 ยุงพาหะโรคเท้าช้าง มีแหล่งเพาะพันธุ์ตามป่าพรุ แหล่งน้ำที่มีพืชน้ำ ฉะนั้นการจัดการกับแหล่งเพาะพันธุ์ทำได้ยากโดยกลบถมหรือทำลายวัชพืช
     3.2 การควบคุมโดยวิธีชีววิทยา
การนำสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติมาควบคุมยุงพาหะให้ได้ผลนั้น ต้องมีปริมาณมากพอที่จะควบคุมประชากรยุงพาหะได้ สามารถหาได้ในท้องถิ่นและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชิวิตอื่นตลอดจนสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ปลากินลูกน้ำ ตัวห้ำ เชื้อรา แบคทีเรีย และโปรโตซัว เป็นต้น
     3.3 การควบคุมโดยวิธีพันธุกรรม
เช่น ทำให้โครโมโซมของยุงพาหะเปลี่ยนไปไม่สามารถนำเชื้อได้ ทำให้ยุงเป็นหมันโดยใช้สารกัมมันตรังสีหรือใช้วัตถุอันตราย
     3.4 การควบคุมโดยวิธีกล
การลดการสัมผัสระหว่างคนและยุงพาหะ เช่น การใช้มุ้ง การสวมเสื้อมิดชิด การใช้สารทาป้องกันยุง การใช้ยาจุดกันยุง การใช้มุ้งลวด
     3.5 การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของแมลง ใช้ชื่อย่อว่า IGRs แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
          3.5.1 สารคล้ายจูวิไนล์ฮอร์โมน (Juvenile analogues) เช่น สารเม็ทโทปรีน(methoprene)
          3.5.2 สารยับยั้งการสร้างผนังลำตัวแมลง (Chitin synthesis inhbitors) เช่น สารไดฟลูเบนซูรอน  (diflubenzuron) ไทรทูมูรอน (triumuron)  เป็นต้น
     3.6 การควบคุมโดยใช้สารเคมี
 การใช้มาตรการควบคุมโดยใช้วัตถุอันตรายนี้ จะต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุมโดยอาศัยความรู้ทางชีวนิสัยของยุงพาหะ ระบาดวิทยาของโลก ความเป็นพิษของวัตถุอันตรายที่นำใช้อย่างปลอดภัย ในทางสาธารณสุขนั้นจำนวนไม่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นำมาใช้พ่นชนิดมีฤทธิ์ตกค้างหรือนำมาใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานทางการเกษตรซึ่งอาจทำให้ยุงพาหะเกิดความต้านทานต่อสารนั้นได้ ดังนั้นการควบคุมยุงพาหะโดยการใช้วัตถุอันตรายจึงควรใช้ร่วมกับมาตรการอื่น
          3.6.1 สารจากธรรมชาติ (Natural Products)  เช่น สารไพรีทรีนซึ่งสกัดจากดอกเบญจมาศ สารนิโคตินจากใบยาสูบ สารสกัดจากสะเดา (Neem)  โล่ติ๊น (Rotenone)  เป็นต้น
          3.6.2 การใช้วัตถุอันตรายกำจัดลูกน้ำ (Larvicides)  ได้แก่ เทมีฟอส  (temephos) เฟนไธออน (fenthion) คลอไพรีฟอส (chlorpyriphos) เป็นต้น สารเทมีฟอส 1 % เคลือบทราย (Sandgranules) หรือเคลือบซีโอไลท์ (zeolite granules) ความเข้มข้นที่แนะนำให้ใช้ 1 พีพีเอ็มในน้ำ  (10 กรัมในน้ำ 100 ลิตร) มีฤทธิ์กำจัดลูกน้ำยุงได้ 8 - 20 สัปดาห์ ขึ้นกับพฤติกรรมการใช้น้ำ
          3.6.3 การใช้วัตถุอันตรายกำจัดยุง  ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีดังนี้
               3.6.3.1 กลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ (Synthetic pyrethroid compounds) เช่น  เพอเมทรีน  (permethrin)  เดลต้าเมทรีน  (deltamethrin)  แลมด้าไซฮาโลทรีน (lambdacyhalothrin) เป็นต้น
               3.6.3.2 กลุ่มออร์ก้าโนคลอรีน  (Organochlorine compounds) เช่น ดีดีที แต่ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือ ห้ามผลิต นำเข้าส่งออกและมีไว้ในครอบครอง
               3.6.3.3 กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟส  (Organophosphate compounds) เช่น เฟนนิโทรไธออน (fenitothion)  มาลาไธออน (malathion)  ไดคลอวอส(dichlorvos) เป็นต้น
               3.6.3.4 กลุ่มคาร์บาเมต (Cabamate compounds)  เช่น โปรพ็อกเซอร์ (Propoxur) เบนดิโอคาร์บ (bendiocarb) เมทโทมิล (methomyl) เป็นต้น

บริษัท เอ็ม ดี เฮาส์ จำกัด สำนักงาน ประชาชื่น 0-2588-5361-4 สาขารัตนาธิเบศร์ - ราชพฤกษ์ 0-2195-3561-4 Hot Line สายด่วน 08-1362-0641

bottom of page